วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

เข้าห้องครัว ไปดูศิลปะ กับ ขาบ สตูดิโอ


เข้าห้องครัว ไปดูศิลปะ !? กับ ขาบ สตูดิโอ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
                                                                                              15 มีนาคม 2555 13:23 น
   
   
       ART EYE VIEW --หนึ่งในผู้ที่รู้จักนำ “ศิลปะ” มาช่วยแต่งเนื้อแต่งตัวให้อาหาร “จานอร่อย” กลายเป็นอาหาร “จานสวย” ประทับใจผู้รับประทาน
      
       เราคงไม่ลืมที่จะนึกถึง Food Stylist คนที่ชื่อ ขาบ - สุทธิพงษ์ สุริยะ แห่ง ขาบ สตูดิโอ (KARB STUDIO) ที่สีส้มจะลอยเข้ามาอยู่ในความทรงจำเราด้วยทุกครั้ง เมื่อนึกเขาและสตูดิโอของเขา
      
       ขาบบอกถึงเหตุผลที่เลือกใช้สีส้ม มาเป็นสัญลักษณ์ให้กับ “ขาบ สตูดิโอ” องค์กรที่รับสร้างภาพลักษณ์และแบรนด์ดิ้งให้กับธุรกิจอาหารด้วยมาตรฐานสากลอย่างครบวงจร มากว่า 25 ปี ว่า
      
       “อย่างแรกคือ สีส้มเป็นสีที่มีพลังในเรื่องของการกระตุ้นให้คนอยากทานอาหารได้ดีที่สุด และโดยส่วนตัวผมชอบ ฟักทอง แต่ให้นึกถึงสีของ ฟักทองฮัลโลวีนนะ มันถึงจะเป็นส้ม แบบที่ผมชอบ นอกจากนี้ผมยังเอาฟักทองมาเป็นโลโก้ของบริษัทด้วย เนื่องจากฟักทอง เป็นทั้งผักและผลไม้ สามารถทำอาหารได้ทั้งคาวและหวาน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง”

       ด้วยความเป็นคนทำอาหารที่ชอบศิลปะ ทำให้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่เขาสนใจ ไม่ถูกปล่อยผ่าน ทั้งเรื่องของ “ความดูดีและมีมาตรฐาน”
      
       หลายๆโอกาส เขาจึงต้องแปลงกายเพื่อไปทำหน้าที่หลายๆอย่างในเวลาเดียว ไม่ว่าจะเป็น คนทำอาหาร ,นักออกแบบอาหาร ,ช่างถ่ายภาพอาหาร ,นักเขียน,คนทำหนังสือ ฯลฯ
      
       “ก่อนจะมาสนใจอย่างอื่น ผมเป็นคนทำอาหารมาก่อน เป็นคนทำอาหารที่ชอบศิลปะ ก็เลยกลายมาเป็น Food Stylist ดังนั้นผมจึงเป็น Food Stylist ที่เข้าใจเรื่องของการปรุงอาหาร
      
       เมื่อเป็นคนทำอาหารที่ต้องเข้าใจเรื่องของการทำอาหารให้อร่อย , เป็น Food Stylist ต้องเข้าใจเรื่องการทำให้อาหารดูดีน่ารับประทานแล้ว ต่อมาผมก็เริ่มมาสนใจเรื่องของอาหารผ่านเลนส์ นั่นคือ สนใจถ่ายภาพอาหาร
      
       อาหารในจานที่เรามองผ่านสายตาว่าสวยมาก จริงๆแล้วอาจจะไม่สวยเลยก็ได้เมื่อเรามองผ่านเลนส์ ดังนั้นเมื่อเราถ่ายภาพอาหาร เราต้องรู้และเข้าใจว่า ความสวยของอาหารที่มองผ่านเลนส์เป็นอย่างไร”
      
       การได้ชิมอาหารผ่านภาพถ่ายก่อนจะได้ชิมอาหารจากจานจริงเป็นศิลปะอย่างไร ขาบได้อธิบายว่า
      
       “ก่อนที่เราจะได้ชิมอาหารจากจานจริง อาหารจะถูกชิมผ่านสายตาจากรูปภาพต่างๆ ก่อน มันก็เลยกลายมาเป็นเรื่องของศิลปะ ที่เมนูอาหารจากสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย มันต้องทำให้คนที่เห็นรู้สึกว่า อาหารนั้นมันคือศิลปะ และทำให้เขาอยากจะชิม
      
       เมื่อเราคนถ่ายภาพอาหารอยากทำให้คนเขาอยากชิม อยากรับประทาน และรู้สึกตื่นตาตื่นใจ เราก็ต้องดึงเรื่องของศิลปะมาใช้ โดยการดึงสีสันของตัววัตถุดิบในอาหารมาเป็นตัวเดินภาพอันดับแรก
      
       ต่อด้วยเรื่องของรูปทรงและเส้นสายของวัตถุดิบในอาหาร ที่มีทั้งความเว้า ความโค้ง ก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง และสิ่งที่สาม คือ ภาชนะที่นำมาใส่อาหาร จากนั้นเมื่อนำทุกอย่างมาจัดวาง เราจึงต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ภาพที่เราถ่ายออกมา มันไม่ดูหนักหรือเบาเกินไป”

       ความสนใจของขาบไม่ได้หยุดอยู่แค่การถ่ายภาพอาหารให้ออกมาเป็นที่น่าพอใจ เพื่อให้อาหารเกิดความสวยแบบครบวงจร และเป็นประโยชน์กับผู้คน ภาพอาหารของเขาจึงถูกนำมาวางเคียงข้างเนื้อหา และกลายเป็นหนังสือเล่มสวยที่ให้ความรู้แก่ผู้คนในเรื่องของอาหารการกินหลายเล่ม
      
       หนังสือเล่มแรกซึ่งร่วมทำกับ สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ และมีเนื้อหาเกี่ยวกับ อาหารในราชสำนักของหลวงพระบาง ด้วยความน่าสนใจของเนื้อหา ตลอดจนความใส่ใจในเรื่องของการออกแบบ นำพาชื่อเสียงมาสู่เขาโดยไม่ตั้งตัว
       
      
       “ผมเอาเนื้อหามาจาก ห้องเครื่องในราชสำนักหลวงพระบาง เป็นห้องเครื่องที่ทำอาหารถวายเจ้านายองค์สุดท้ายของลาว (พระบาทสมเด็จพระเจ้าเชษฐาขัติยวงศา พระมหาศรีสว่างวัฒนา หรือ ที่คนไทยคุ้นเคยในพระนาม เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา)ก่อนห้องเครื่องคนนี้เสียชีวิตได้ทำหนังสือเอาไว้เล่มหนึ่ง และหนังสือเล่มนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากเอามาขยายความและต่อยอดในเรื่องของดีไซน์ เพราะต้นฉบับเดิมจะมีเฉพาะตัวหนังสือกับภาพวาดเท่านั้น
      
       ตัวผมซึ่งเป็น Food Stylist ก็อยากจะแปลงเมนูจากที่เป็นตัวหนังสือหรือภาพวาดอย่างเดียวให้กลายมาเป็นเมนูที่มีภาพถ่ายสวยๆ ต้องบอกว่าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีเนื้อหาที่ดีมาก และเป็นประวัติศาสตร์ เพราะในเล่มมีเรื่องของการท่องเที่ยวหลวงพระบาง ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลก รวมอยู่ด้วย และเนื้อหาอีกอย่างที่โดดเด่นก็คือ ผมได้ไปสัมภาษณ์เรื่องอาหารการกิน จากคนที่เคยทำอาหารและใช้ชีวิตอยู่ในวังมาก่อน”

       ปีแรกที่หนังสือเล่มนี้ซึ่งมีการพิมพ์แยกเล่มเป็น 2 ภาษา วางจำหน่ายที่หลวงพระบาง หลังจากนั้นฝรั่งจากหลายชาติที่ไปเที่ยวหลวงพระบาง และซื้อกลับบ้านไป ได้อีเมลมาบอกเขา ถึงความประทับใจที่มีต่อหนังสือ แนะนำให้ส่งไปประกวดเวทีนั้นเวทีนี้ พร้อมกับส่งที่อยู่มาให้ด้วย
      
       “ตอนทำหนังสือเล่มนี้ ผมไม่ได้มองเรื่องของรางวัล แต่ผมมองเรื่องของการสร้างองค์ความรู้ เรื่องของประวัติศาสตร์ ผมอยากทำหนังสือเชิงสารคดีอาหาร ผมจะไม่ทำหนังสือตำราอาหาร เพราะผมต้องการทิ้งประวัติศาสตร์เอาไว้ให้คนรุ่นหลัง
      
       ปีแรกที่มีอีเมลมา ผมไม่ได้สนใจ พอปีที่สองมีอีเมลเดิมส่งมาอีก ผมคิดว่า เขาคงอยากให้ผมส่งไปประกวดจริงๆ ผมก็เลยส่งไปดู เลยได้รับรางวัลมาสองเด้ง(หัวเราะ) คือ หนังสือรางวัลท่องเที่ยวดีเด่นของโลก และ หนังสืออาหารการกินดีเด่นของโลก จากหนังสือชื่อ   Food and Travel : Laos
      
       ผมจึงรู้สึกว่า ผมมาถูกทางแล้ว หลังจากนั้น หนังสือหลายๆเล่มของผม เมื่อทำเสร็จ ผมจะส่งประกวดทุกครั้งเลย ปัจจุบันนี้ได้มาทั้งหมด 12 รางวัลในระดับโลก และ หนังสือชื่อ Good Idea Kitchen เคยได้รับรางวัลจากเวที Gourmand World CookBook Awards และปัจจุบันผมยังเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียว ที่ได้รับรางวัลนี้”

       ประสบการณ์ กว่า 25 ปี ของผู้นำอาหารเดินทางมาบรรจบกับศิลปะ , ย้ำเตือนให้หลายๆคนได้เข้าใจว่า ศิลปะ กับหลายเรื่องในชีวิต ไม่ควรแยกออกจากกัน และยังเป็นหนึ่งฟันเฟืองที่ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในโลกของการแข่งขัน
      
       เวิร์คชอป "ฟู้ดสไตลิสต์เชิงพาณิชย์ศิลป์สำหรับตลาดสากล" ในนาม ขาบ สตูดิโอ จึงเกิดขึ้น เพื่อมอบองค์ความรู้ในเรื่องศิลปะที่เกี่ยวกับอาหาร ให้ผู้ร่วมเวิร์คชอปได้นำไปใช้จริง
      
       ก่อนที่เวิร์คชอปครั้งต่อๆไปจะตามมา ขาบ สตูดิโอ ได้เริ่มนับหนึ่ง ด้วยการทำเวิร์คชอปให้กับ ภัตตาคารอาหารจีน “ฮองมิน”
      
       “เป็นร้านอาหารที่มีราคาใกล้เคียงกับโรงแรม 5 ดาว เลย แต่จะโดดเด่นกว่าตรงที่หน้าตาของอาหารจะสวยกว่า ผมไปทำเวิร์คชอปให้ 3 วัน ก่อนที่จะมีการเปิดร้านใหม่ ณ พรอเมนาด ใกล้ แฟชั่นไอส์แลนด์ ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้”
      
       ขาบ บอกว่า คน 2 กลุ่มที่ไม่ควรมองผ่านเวิร์คชอปอันนี้ ที่เขามีความตั้งใจอยากนำเสนอก็คือ
      
       “กลุ่มแรก คือคนที่ทำงานอยู่ในสายอาหาร มาได้หมดเลย ตั้งแต่ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ และคนที่ต้องการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของตัวเอง ด้วยศิลปะ
      
       และกลุ่มที่สอง คือ คนที่เรียนศิลปะ คนที่อยู่ในวงการดีไซเนอร์ คนที่ออกแบบรรจุภัณฑ์ ออกแบบสิ่งพิมพ์ ซึ่งคนเหล่านี้ เมื่อเรียนจบจำนวนหนึ่งจะต้องไหลไปสู่ Production House หรือ บริษัทอาหาร เวลาคนพวกนี้ออกแบบอาหารเขาจะไม่เข้าใจธรรมชาติของวัตถุดิบอาหาร ดังนั้นคนพวกนี้จึงต้องมาเรียนรู้ เพื่อจะได้รู้ว่า จะมีวิธีดึงธรรมชาติของอาหารออกมาได้อย่างไร
      
       ดังนั้นทั้งผู้ประกอบธุรกิจอาหารจึงต้องมาเรียนรู้ว่า ความสวยของศิลปะอาหารคืออะไร ที่ผ่านมาเขาอาจจะรู้ แต่เขา No How ถูกไหมฮะ กับอีกคนที่รู้จักศิลปะแต่ไม่รู้จักว่าธรรมชาติของอาหารคืออะไร”
      
       เอ้า ...ได้เวลา เข้าห้องครัว ไปดูศิลปะ !?
      

ลิงค์ : http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9550000033533&Keyword=%ca%d8%b7%b8%d4%be%a7%c9%ec++%ca%d8%c3%d4%c2%d0